ททท.สำนักงานน่าน
23 Feb 2024 17:14:35แผนที่
Your STAMM Book
มาสะสม STAMM เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวดีๆ ระหว่างทางกันสบตา สัมผัส ผ้าน่าน มนต์เสน่ห์แห่งลมหายใจ ลายแทงสู่แหล่งทอผ้าเมืองน่าน
กลางสายลมพัดพริ้วแห่งฤดูกาล น่านคือดินแดนสงบงามที่มากมายด้วยวิถีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ จึงมีศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน โดยเฉพาะภูมิปัญญาหัตถศิลป์อันงดงามล้ำค่าที่สืบสานมาแต่บรรพบุรุษ ทำให้น่านเป็นอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยมนตราแห่งสีส้นและลมหายใจของชีวิต
"สบตา สัมผัส ผ้าน่าน" เป็นคู่มือที่เปิดประตูสูการเดินทางเพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงวิถีเส้นสายลายผ้าของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน ผ่านรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ของแม่ ๆ ยาย ๆ ผ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ที่เพียงสบตา ก็สัมผัสได้ถึงความเพียรพยายามที่จะรักษามรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไว้ โดยคู่มือนี้จะใช้ภาษาการเขียนเสมือนการเล่าให้ฟัง เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางตามลายแทงนี้ ส่งมอบพลังและกำลังใจดี ๆ ให้กับชาวน่าน สืบไป...
ผ้าน่าน 7 ลาย
ตามข้อมูลของศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชน ผ้าน่าน มีทั้งหมด 7 ลายได้แก่
1. ซิ่นม่าน
เป็นซิ่นที่มีช่วงขนาดของลายไม่เท่ากัน แต่ละช่วงมีชื่อเรียก เช่น จั๊ดออน (ชมพู) จั๊ดแล (น้ำเงิน) ส่วนที่เป็นหมู่ตาจะเป็นลวดลายหรือมุก สามารถสอดดิ้นเงินดิ้นทองได้ สีของผ้าส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำเงิน ช่วงล่างของผ้า มีมุกตาหมู่ 4-5 หมู่ ชายผ้ามี 2 ลักษณะคือแบบมีสีเดียวหรือสองสีก็ได้ การใช้งาน สวมใส่อยู่บ้านหรือไปวัดงานบุญ งานบวชนาค หรือชุดฟ้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นิยมสวมใส่กับเสื้อสีขาวยาวพาดผ้าสไบ
2. ซิ่นป้อง
ทอเป็นหมู่ ๆ ด้วยเทคนิคขิดเก็บมุกตรงกลางลายในแต่ละหมู่ลายริ้วขวางเท่ากันเป็นปล้อง ๆ ตลอดผืน สลับด้วยมุกหรือดอกลวดลายสลับแบ่งเป็นระยะเท่า ๆ กัน ทอสลับก่านข้อหรือมัดก่านจะทอด้วยฝ้ายทั้งผืน หรือทอสลับด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือใช้ผ้าตีนจกมาต่อเป็นตีนซิ่นที่เรียกว่าซิ่นตีนต่อ หากไม่ต่อตีนจกตีนซิ่นจะมี 2 สี คือ แดงและน้ำตาลสลับดำ ขั้นด้วยริ้วขนาดเล็กที่เรียกว่าตีนเล็บ
3. ซิ่นเชียงแสน
ชื่อซิ่นแสดงถึงแหล่งกำเนิดของชาวไทยเชียงแสน มีลักษณะเป็นผืนผ้าพื้น มีริ้วสีเข้มลายขวางทอด้วยเทคนิคขัดสานตลอดทั้งผืน ถ้าใช้เส้นยืนสีแดงจะเรียกซิ่นเชียงแสนเครือแดง ถ้าใช้เส้นยืนสีดำจะเรียกซิ่นเชียงแสนเครือดำ หัวซิ่นจะทอด้วยสีขาว ส่วนตีนซิ่นมี 2 ลักษณะ คือ ตีนเล็บ และตีนป้าน
4. ซิ่นคำเคิบ
เป็นซิ่นที่ใช้กันในคุ้มเจ้าเมืองน่าน มีลายที่วิจิตรพิสดาร ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองสลับทั้งผืนหรือต่อตีนจก บางผืนใช้ลายดอกพิกุลเล็กยกดอกสลับกันไปทั้งผืน หรือเก็บมุกเป็นดอกลายต่าง ๆ ด้วยดิ้นเงินดิ้นทองเท่านั้นซึ่งที่เมืองน่านเรียกว่าซิ่นยก เป็นของสวมใส่ของสตรีสูงศักดิ์และผู้มีฐานะ บางผืนจะทอด้วยเส้นเงินจริงหรือเส้นทองคำจริง
5. ซิ่นก่าน
ภาษาถิ่นเรียก "มัดก่าน" หรือ "คาดก่าน" เป็นซิ่นของชาวไทยลื้อที่อพยพมาจาก สปป.ลาว วิธีการมัดย้อมลายไม่เสมอก้นตามแต่จินตนาการ มีโครงสร้างที่ไม่แน่นอน มีลวดลายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเทคนิคการมัดก่านและการกำหนดให้ลงตัวด้วยลวดลายไม่มีมุกหรือดอกเหมือนชื่นชนิดอื่น ไม่นิยมทอด้วยดิ้นเงินดินทอง มักใช้ฝ้ายหรือไหมเท่านั้น
6. ซิ่นน้ำไหล
เป็นการทอลายเลียนแบบการไหลของกระแสน้ำ ด้วยจินตนาการของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ฝ้ายหลายสีพุ่งสลับกัน อาจสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองด้วยเทคนิคการเก็บขิดสลับสีเพื่อความงดงาม และยังมีชื่อเรียกตามลักษณะการไหล เช่น น้ำไหลใบข้าว น้ำไหลเม็ดแดง น้ำไหลขิบ น้ำไหลระเบิด น้ำไหลภูเขา ฯลฯ
7. ซิ่นลื้อ
เป็นลวดลายผ้าของไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ใช้ผ้าไหมที่มีสีสันสะดุดตา ตกแต่งด้วยการขิด จก และล้วง ลวดลายจะแตกต่างกันไปตามวัยของผู้นุ่ง ซิ่นลื้อทอด้วยฝ้ายที่ส่วนมากพื้นเป็นสีดำสลับแดง เหลือง เขียว ขาว และเก็บมุกเป็นรูปขอ หงส์ ม้า ปลา เขาปอกเขาย้ง อันเป็นชื่อเรียกของเทคนิคการทอ
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้า บ้านซาวหลวง อำเภอเมืองน่าน
- ร้านฝ้ายเงิน อำเภอเมืองน่าน
- โฮงเจ้าฟองคำ อำเภอเมืองน่าน
- กลุ่มทอผ้าจันทร์สมการทอ บ้านหนองบัว (หมู่บ้านไทลื้อ) อำเภอท่าวังผา
- แพวผ้าฝ้าย อำเภอปัว
- กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต (ป้าหลอม) อำเภอปัว
- วราภรณ์ผ้าทอ อำเภอเวียงสา
- กลุ่มทอผ้าตีนจก บ้านน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา
- กลุ่มผ้าทอไทลื้อสีธรรมชาติ บ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา
แนะนำ ร้านผ้าทอเมืองน่าน ในจังหวัดน่าน 9 ร้าน ดังนี้
1. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้า บ้านซาวหลวง
2. ร้านฝ้ายเงิน
3. โฮงเจ้าฟองคำ
4. กลุ่มทอผ้าจันทร์สมการทอ บ้านหนองบัว (หมู่บ้านไทลื้อ)
5. แพวผ้าฝ้าย
6. กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต (ป้าหลอม)
7. วราภรณ์ผ้าทอ
8. กลุ่มทอผ้าตีนจก บ้านน้ำปั้ว
9. กลุ่มผ้าทอไทลื้อสีธรรมชาติ บ้านดอนมูล
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้า บ้านซาวหลวง อำเภอเมืองน่าน
"อยากให้มาเรียนรู้มากกว่าที่จะมาเที่ยวเฉย ๆ" คำบอกเล่าของน้องดรีม หรือคุณกรกฎ แปงใจ คนรุ่นใหม่แห่งบ้านชาวหลวงที่มีจิตวิญญาณของการอนุร้กษ์ผ้าทอบ้านเกิดอย่างเต็มหัวใจ โดยน้องดรีมเล่าว่า ผ้าทอบ้านชาวหลวงมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครคือ แกะลวดลายมาจากปากไหแหล่งเตาเผาโบราณที่บ้านบ่อสวก ซึ่งอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของล้านนา ลวดลายที่นำถ่ายทอดลงบนผืนผ้าเรียกว่า "ลายบ่อสวก" ประกอบด้วยลายอินธนู ลายนกฮูก และลายอินคำแสง เป็นต้น
ด้วยความเอาใจใส่ของฝีมือช่างทอ จึงแกะลายออกมาได้อย่างประณีตงดงาม ไม่เพียงเท่านั้น ป้า ๆ ยาย ๆ ทุกคนที่มาทอผ้าที่กลุ่มฯ จะต้องมีความรักและไม่ได้หวังแค่มาเพื่อทอผ้าอย่างเดียว แต่มาทอเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา รวมถึงมาช่วยกันดูแลสถานที่ของกลุ่มฯ ให้สะอาด น่าอยู่ พอว่างจากการทอผ้า ก็จะมานั่งล้อมวงคุยกันบ้างห่อข้าวมาแบ่งก้นกินบ้าง เป็นบรรยากาศที่ใครได้มาพบเห็น ก็จะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นหัวใจเป็นของขวัญกลับบ้านไปด้วยเช่นกัน
ร้านฝ้ายเงิน อำเภอเมืองน่าน
หากใครต้องการศึกษาผ้าทอโบราณของจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าครบทุกแบบ ทุกลาย ทุกยุค ทุกสมัย แนะนำให้มาพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณของร้านฝ้ายเงิน ที่นี่...นอกจากจะเป็นแหล่งขายผ้าฝ้ายพื้นเมืองและผ้าทอมือจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจังหวัดน่านแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าทอโบราณหลากหลาย โดยมีคุณเทิดศักดิ์ อินแสง ผู้ที่ตกหลุมรักฝีมือการทอผ้าของคนโบราณจึงเริ่มทยอยเก็บสะสม พร้อมศึกษาประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาของช่างทอ เทคนิคการทอผ้าต่าง ๆ มีการนำผ้าที่สะสมมาฟื้นฟูและทอขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นครูสอนทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติด้วยเช่นกัน
"การเก็บผ้าครั้งแรกคือการเดินทางเข้าไปรู้จักชีวิต และวัฒนธรรมของเขาเหล่านั้นก่อน จึงจะได้รู้ว่าผ้าผืนนั้น...งามเช่นไร" แนวคิดของคุณเทิดศักดิ์ที่สัมผัสได้ถึงความรัก ความเอาใจใส่ของที่มาผ้าแต่ละผืนจนพัฒนามาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผสมผสานลวดลายผ้าแบบโบราณกับเทคนิคต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน ทำให้ได้ผ้าทอที่สวยงามและร่วมสมัย ดังนั้นร้านฝ้ายเงินนับได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับผ้าทอของจังหวัดน่านที่ไม่ควรพลาด อีกทั้งอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่รักผ้าทอได้เริ่มออกเดินทาง สะสม และเรียนรู้ว่าผ้าแต่ละผืนนั้นมีชีวิตมีเรื่องราวมาอย่างไร เป็นอีกทางที่จะอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไป
โฮงเจ้าฟองคำ อำเภอเมืองน่าน
เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจของชาวน่าน ที่มีบ้านโบราณแท้ ๆ ได้รับการอนุรัษ์ไว้ใจกลางเมือง "โฮงเจ้าฟองคำ" หลังนี้มีอายุร้อยกว่าปี เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย มีชื่อว่า "เจ้าศรีตมมา" ผู้สืบเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 11 ลักษณะเป็นเรือนไม้สัก ยกใต้ถุนสูง มีเรือนแฝด 2 หลัง แบ่งเป็นเรือนนอน และเรือนครัว ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จากการบอกเล่าของคุณภัทราภรณ์ ปราบริปู บุตรสาวคนที่ 6 ของเจ้าฟองคำว่า "เมื่อมาเยือนบ้านหลังนี้อยากให้มีความรู้สึกย้อนกลับสู่อดีต อยากให้เห็นวิถีความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของชาวน่าน และอยากอนุรักษ์งานที่เราทำคือ การทอผ้า ให้ยังคงอยู่ในบ้าน"
ที่โฮงเจ้าฟองคำแห่งนี้ นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตแล้ว ยังมีการสาธิตการทอผ้าที่ใต้ถุนบ้าน ลวดลายที่มีเอกลักษณ์คือ "ลายน้ำไหลหยดน้ำ" ที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอโฮงเจ้าฟองคำได้คิดค้นขึ้นมา เป็นลายผ้าที่ดูมีมิติ ร่วมสมัย และอ่อนช้อย ที่สำคัญคือใช้เวลาทอนานกว่าหนึ่งเดือนจึงจะนำมาทำเป็นผ้าซิ่น ส่วนใหญ่ใครที่ได้มาเยือนโฮงเจ้าฟองคำครั้งแรกมักจะมีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม เพราะป้าๆ ยายๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยอย่างสนิทสนม ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันราวกับอยู่บ้านตนเอง
กลุ่มทอผ้าจันทร์สมการทอ บ้านหนองบัว (หมู่บ้านไทลื้อ) อำเภอท่าวังผา
หลายคนคงรู้จัก "ผ้าทอลายน้ำไหล" ที่มีลักษณะเป็นคลื่น มองดูคล้ายสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อโดยเฉพาะจังหวัดน่าน แต่คงมีอีกหลายคนสงสัยว่า ลายน้ำไหลนี้มาจากที่ไหน และที่ใดทอขายเป็นที่แรก ก่อนอื่นเลย ผ้าทอชาวไทลื้อนั้นมีหลากหลายลวดลาย สันนิษฐานว่าสิบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน และได้เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ลวดลายที่ติดตัวมาด้วยจากบรรพบุรุษ เช่น ลายน้ำไหล ลายสายฝน ลายลื้อ ลายม่าน
ซึ่งบ้านหนองบัวเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ชาวไทลื้ออพยพมาอาศัยอยู่ เริ่มมีการทอผ้ามาไม่น้อยกว่า 150 ปี และเป็นหมู่บ้านแรกที่นำลายน้ำไหลมาทอขาย โดยมีคุณป้าจันทร์สม พรหมปัญญา เป็นผู้ริเริ่มรื้อฟื้นภูมิปัญญานี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2518 ปัจจุบันมีการนำลายน้ำไหลมาต่อยอดเป็นลวดลายต่าง ๆ มากมาย เช่น ลายจรวด ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ลายเล็บมือนาง และลายธาตุ หมู่บ้านหนองบัว จึงอบอวลไปด้วยศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ นักท่องเที่ยวนอกจากจะมาเยี่ยมชมการทอผ้าที่กลุ่มทอผ้าจันทร์สมแล้ว ยังสามารถชมการสาธิตการทอผ้าที่ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตั้งอยู่ภายในวัดหนองบัวได้ด้วยเช่นกัน
แพวผ้าฝ้าย อำเภอปัว
วันหนึ่ง พี่แพว หรือคุณแพว คำภานุช หญิงสาวชาวไทลื้อ จากชุมชนบ้านเฮี้ย อำเภอป้ว ลาออกจากโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งโดยการสานต่อภูมิปัญญาที่คุณแม่เคยสอนไว้ ด้วยการทอผ้าหลบหรือผ้าปูที่นอนแบบไทลื้อ แต่ทว่า ต่อให้พี่แพวพยายามทอผ้าดีขนาดไหน ก็ถูกแม่ค้าคนกลางกดราคาขายได้เพียงผืนละ 43 บาทเท่านั้น ภายหลังพี่แพวจึงร่วมกับคนในชุมชนก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้นมา และด้วยความที่พี่แพวเป็นคนมีพรสวรรค์ด้านการตลาดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงนำผ้าหลบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่สินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง หมอนอิง ปลอกหมอน ไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ
จากสมาชิกกลุ่มที่มีเพียงแค่ 40 คน ปัจจุบันมีถึง 100 กว่าคน ทำให้ชาวบ้านเฮี้ยตั้งแต่วัยสาวไปถึงวัยเกษียณ มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แพวผ้าฝ้ายในวันนี้ กำลังเดินทางสู่ตลาดบน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นชื่อดังต่าง ๆ ของเมืองไทย แต่สิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือ ทุก ๆ เช้า พี่แพว และชาวบ้านเฮี้ยตื่นมาพร้อมกับรอยยิ้มสดใส มีความสุขกับการที่ได้อยู่กับครอบครัวที่รักในทุก ๆ วัน
กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต (ป้าหลอม) อำเภอปัว
น้ำเสียงที่อ่อนโยน กับสายตาที่ห่วงใย ของป้าหลอม หรือ คุณศดานันฑ์ เนตรทิพย์ ค่อย ๆ บรรจงถ่ายทอดเรื่องราวและลวดลายผ้าทอไทลื้อแต่ละผืนอย่างมีความสุข ป้าหลอม เกิดในครอบครัวชาวไทลื้อและได้ฝึกหัดการทอผ้าจากคุณยายและคุณแม่มาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทำให้เกิดความรัก ความผูกพ้น สืบทอดมาถึงปัจจุบัน และได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติครูช่างหัตถศิลป์ พ.ศ. 2555 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อีกหนึ่งผลงานที่น่าภาคภูมิใจคือ ได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 3 หมู่บ้านที่ได้รับมอบหมายการทอตุงไชยลายปราสาท 5 ชั้น เพื่อตกแต่งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะป้าหลอมและชาวไทลื้อในชุมชนต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาล้ำค่าไว้ มีการรวมตัวช่วยกันสืบค้น แกะลายจากผ้าโบราณ เช่น ผ้าปูที่นอนเก่า ๆ มาเป็นผ้าปูที่นอนแบบใหม่ ผ้าปูเสื่อเก่า ๆ มาเป็นผ้าปูโต๊ะ รวมไปถึงแปรรูปผ้าทอไทลื้อเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้ารองจาน ผ้าคลุ่มไหล่ หมองอิง ป้าหลอมมีความฝันว่า "ป้าอยากให้ลูกหลานได้มาหัดทอผ้า มาเรียนรู้ ป้าพยายามจะถ่ายทอดให้เป็นวิทยาทานแก่ลูกหลานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" นั่นคือความห่วงใยในมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทลื้อที่คุณป้าอยากให้คงอยู่ตลอดไป
วราภรณ์ผ้าทอ อำเภอเวียงสา
ผ้าทอเมืองน่านแต่ละที่ แต่ละชุมชนต่างมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ต่างก้น อยู่ที่มุมมอง ศาสตร์ และศิลป์ของผู้ทอ หรือผู้ออกแบบลวดลายว่าจะใช้จินตนาการผสมผสานเพื่อให้ได้ผ้าทอที่มีลวดลายสวยงามได้อย่างไร เฉกเช่นเดียวกับวราภรณ์ผ้าทอ แห่งชุมชนบ้านดอนไชย โดยมีคุณสมพิศ เทพศิริ ผู้สืบทอดศิลปะการทอผ้าจากบรรพบุรุษเชื้อสายไทยยวน "บ้านเรามีการทำครบวงจรตั้งแต่เริ่มปลูกฝ้าย ทอผ้า และแปรรูป แต่ที่เราภูมิใจคือ เราเป็นคนคิดค้นแกะลายจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ลงมาที่ผืนผ้า ใช้ชื่อว่า ลายปล้องหนานบัวผัน และลายม่านหนานบัวผัน ซึ่งเราได้จดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว"
เรื่องราวเริ่มต้นมาจากคุณสมพิศชอบไปไหว้พระทำบุญที่วัดภูมินทร์ เกิดประทับใจภาพวาดบนฝาผนังในคราวนั้นคุณวรากรณ์ ลูกสาวคุณสมพิศได้ชื่อของที่ระลึกที่มีภาพวาดนั้นกลับมาบ้านด้วย จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คุณสมพิศอยากแกะลายผ้าตามภาพวาดนั้น กว่าจะได้ออกมาเป็นซิ่นลายปล้อง ลายม่านหนานบัวผัน อย่างสมบูรณ์แบบ ต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายปี ทอกันเป็นสิบ ๆ ผืนกว่าจะลงตัว ปัจจุบันสองลายนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก ราวกับได้ปลุกภาพจิตรกรรมฝาผนังให้ขึ้นมามีชีวิตและจับต้องได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
กลุ่มทอผ้าตีนจก บ้านน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา
กลุ่มทอผ้าหนึ่งเดียวในจังหวัดน่านที่มีการทอผ้าตีนจกส่งเป็นวัตถุดิบให้กับชุมชนอื่น ภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกนี้ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เดิมทีหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านของชาวม่าน (คำว่า ม่าน เป็นคำพูดของคนสมัยก่อนที่ใช้เรียกคนพม่า) ได้อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว คนส่วนหนึ่งมาตั้งรกรากที่บ้านน้ำปั้วแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม แต่ยามว่างจากการทำไร่ ทำนา แม่ๆ ยาย ๆ จะมานั่งทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน จนกระทั่งปี 2540 ชาวบ้านรวมตัวจัดตั้งกลุ่มทอผ้าตีนจก ซึ่งแต่ละคนสามารถทอผ้าจกได้อย่างประณีตและงดงาม
สำหรับลวดลายนั้น ทางกลุ่มฯ จะช่วยกันคิดค้นดัดแปลงลายจากผ้าจกโบราณของย่าและยายสมัยก่อน และช่วยกันตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ มีทั้งหมด 12 ลาย เช่น ลายดอกแก้ว ลายตลับนาค ลายสับปะรด ลายขอซ้อนกาบ ลายดาวจรัสแสง เป็นต้น ด้วยความรัก ความสามัคคี และความผูกพันของคนในชุมชน ทำให้กลุ่มฯ มีความเข้มแข็งที่จะอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน นับได้ว่าบ้านน้ำปั้วเป็นแหล่งทอผ้าตีนจกที่ทรงคุณค่าที่ยังคงเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของจังหวัดน่าน
กลุ่มผ้าทอไทลื้อสีธรรมชาติ บ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา
ชุมชนบ้านดอนมูลเป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวไทลื้อของจังหวัดน่าน ที่ยังคงวัฒนธรรมอันเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ภาษา อาหาร การแต่งกาย ความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา จึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านดอนมูลยังคงมีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม เรียบง่าย ที่สำคัญ ยังทอผ้าใช้กันเองภายในครัวเรือน ในขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไทลื้อขึ้น โดยคุณลำไย วงศ์ไทย เป็นผู้ดูแล และหลานสาว คุณศุภมาศ วงศ์ไทย คนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจรักบ้านเกิดรักในผ้าทอที่บรรพบุรุษได้ฝากไว้ นำภูมิปัญญาเหล่านี้มาสานต่อและแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำผ้าไทลื้อมาตัดเป็นเดรสยาว เสื้อคลุมเก๋ หรือแม้แต่เสื้อผู้ชาย มีการต่อขนาดของคอเสื้อให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจะได้เห็นลวดลายของผ้าได้ชัดเจนขึ้น
ปัจจุบัน กลุ่มฯ กำลังพัฒนาเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทอผ้า ในอนาคตอาจมีกิจกรรม DIY ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำ เช่น เย็บกระเป้าย่ามหรือนำเศษผ้าทอไทลื้อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นเล็ก ที่สามารถนำกลับบ้านได้ ใครที่อยากสัมผัสกลิ่นอายความเป็นชนบทของชาวไทลื้อ แถมยังได้เรียนรู้เรื่องผ้าไทลื้อในมุมมองหลากหลาย บ้านดอนมูลเป็นอีกจุดหมายที่จะไม่ทำให้ผิดหวัง
ททท.สำนักงานน่าน
23 Feb 2024 17:14:35สบตา สัมผัส ผ้าน่าน มนต์เสน่ห์แห่งลมหายใจ ลายแทงสู่แหล่งทอผ้าเมืองน่าน
สบตา สัมผัส ผ้าน่าน มนต์เสน่ห์แห่งลมหายใจ ลายแทงสู่แหล่งทอผ้าเมืองน่าน
กลางสายลมพัดพริ้วแห่งฤดูกาล น่านคือดินแดนสงบงามที่มากมายด้วยวิถีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ จึงมีศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน โดยเฉพาะภูมิปัญญาหัตถศิลป์อันงดงามล้ำค่าที่สืบสานมาแต่บรรพบุรุษ ทำให้น่านเป็นอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยมนตราแห่งสีส้นและลมหายใจของชีวิต
"สบตา สัมผัส ผ้าน่าน" เป็นคู่มือที่เปิดประตูสูการเดินทางเพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงวิถีเส้นสายลายผ้าของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน ผ่านรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ของแม่ ๆ ยาย ๆ ผ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ที่เพียงสบตา ก็สัมผัสได้ถึงความเพียรพยายามที่จะรักษามรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไว้ โดยคู่มือนี้จะใช้ภาษาการเขียนเสมือนการเล่าให้ฟัง เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางตามลายแทงนี้ ส่งมอบพลังและกำลังใจดี ๆ ให้กับชาวน่าน สืบไป...
พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น